ผ่าตัดหัวใจไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิดผ่าตัดหัวใจผ่าตัดหัวใจไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิด

ผ่าตัดหัวใจ

ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างมาก แม้ว่าการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจโดยการใช้ยา หรือการรักษาแบบใส่สายสวนหัวใจเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมไปถึงการเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจจะให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจและมีประสิทธิภาพสูงก็ตาม แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว การผ่าตัดหัวใจจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความซับซ้อน อย่างไรก็ตามการผ่าตัดหัวใจอาจไม่ได้เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกราย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ผ่าตัดหัวใจคืออะไร

การผ่าตัดหัวใจเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาการรักษา การผ่าตัดรักษาหัวใจ มีจุดประสงค์เพื่อซ่อมแซม แก้ไขพยาธิสภาพ เพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานได้ปกติ การผ่าตัดหัวใจมักเป็นการผ่าตัดใหญ่และมีความซับซ้อนกว่าการผ่าตัดแบบอื่น ๆ ต้องใช้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้แก่ ศัลยแพทย์หัวใจ อายุรแพทย์หัวใจ วิสัญญีแพทย์โรคหัวใจ พยาบาลเฉพาะทาง พยาบาลห้องผ่าตัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ตลอดจนบุคลากรทางแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมีความจำเป็นต้องอธิบายถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับจากการผ่าตัดเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ

ผ่าตัดหัวใจมีกี่วิธี

การผ่าตัดหัวใจแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลัก ๆ  ได้แก่

  • การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (open-heart surger) เป็นการผ่าตัดที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม (heart lung bypass machine) ทำหน้าที่แทนระบบไหลเวียนของเลือดแทนหัวใจ
  • การผ่าตัดหัวใจแบบปิด (off-pump bypass surgury) เป็นการผ่าตัดในขณะที่หัวใจยังเต้นปกติอยู่ โดยไม่ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม
  • การผ่าตัดหัวใจแบบแผลเล็ก (minimally invasive surgery) เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก มักทำบริเวณซี่โครงด้านข้าง ขนาดของแผล 3-4 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย

ข้อบ่งชี้ในผ่าตัดหัวใจ

  • ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหัวใจหรือผ่าตัดหัวใจหลอดเลือดหัวใจบายพาส (Coronary Atery Bypass Grafting: CABG) กรณีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน เป็นการผ่าตัดหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Repair or Replacement) ใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจ  โดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากเนื้อเยื่อ (Tissue valve prosthesis) และลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะ (Mechanical valve prosthesis)
  • ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Devices Implantation) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าใช้ในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ เมื่อพบความผิดปกติ เครื่องจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นห้องหัวใจให้บีบและคลายตัวในจังหวะที่ถูกต้อง และกลับมาบีบคลายตัวปกติ
  • เปลี่ยนหัวใจ (Heart Transplant) เป็นวิธีการรักษาสุดท้ายของโรคหัวใจโดยการเปลี่ยนหัวใจดวงใหม่

ผ่าตัดหัวใจรักษาอะไรบ้าง

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery diease) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน อาจทำให้เกิดหัวใจวายและมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและพบว่าผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนในช่วงวัยเดียวกัน พบมากในคนอายุมากกว่า40ปีขึ้นไป
  • โรคหลอดเลือดเอออติก (Aortic disease) หลอดเลือดเเดงหลักที่ส่งเลือดจากหัวใจผิดปกติ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) กล้ามเนื้อหัวใจเสียสภาพในการทำงาน นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • หัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) เกิดความบกพร่องของโครงสร้างและหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่เกิด โดยไม่ทราบสาเหตุเเน่ชัด บางส่วนเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และความผิดปกติของโครโมโซม 
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เป็นการเกิดภาวะโรคร่วมที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ตามปกติ 
  • กล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy) ภาวะทางพันธุกรรมที่กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวผิดปกติการไหลเวียนของเลือดไปสู่ร่างกายลดลง
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เยื่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ห่อหุ้มหัวใจ มีลักษณะเป็นแผ่นบาง (membrane) เกิดการอักเสบ
  • โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease) เกิดจากพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือเกิดโรคร่วมอื่น ๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrththmia) จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติขั้นร้ายแรง อาจมีหัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไป ส่งผลต่อการบีบ-คลายของกล้ามเนื้อหัวใจ

ผ่าตัดหัวใจต้องพักฟื้นกี่วัน

คำถามที่พบบ่อยคือผ่าตัดหัวใจต้องพักฟื้นกี่วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัดและความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายผู้ได้รับการผ่าตัด กรณีผ่าตัดเปิดหัวใจส่วนใหญ่ใช้เวลา 6- 12 สัปดาห์ บางรายอาจใช้เวลานานกว่านั้น อีกคำถามที่พบได้บ่อยคือเมื่อไหร่ จะกลับมาขับรถ ทำงาน หรือออกกำลังกายได้ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงวิธีการผ่าตัดด้วย

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจ

  • เสียเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการข้างเคียง-ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ 
  • สับสน มึนงง รู้สึกตัวไม่เต็มที่
  • การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อในหัวใจหรืออวัยวะใกล้เคียง เช่น ปอด ตับและไต 
  • มีไข้ ติดเชื้อหรือพบการอักเสบบริเวณแผลผ่าตัด
  • ไตวายหรือการทำงานของปอดล้มเหลว
  • การเกิดลิ่มเลือด 
  • สมองขาดเลือด 
  • อัมพาต
  • การเสียชีวิตโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการหนักก่อนการผ่าตัด

ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยเสริม ได้แก่ เบาหวาน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไต โรคอ้วน หรือเข้ารับการผ่าตัดในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด เป็นต้น โดยมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพียง 1-2 %

การปฏิบัติตัวก่อน-หลังผ่าตัดหัวใจ

ในการเข้ารับการผ่าตัดหัวใจแพทย์จะอธิบายถึงภาวะโรคหัวใจที่เป็นอยู่ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจ รวมถึงอธิบายความเสี่ยง ผลดีและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหลังได้รับการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด การพักฟื้น และการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หลังผ่าตัดหัวใจ  เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจร่วมกัน 

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากก่อนการผ่าตัด
  • ให้แพทย์พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อนและหลังทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัดงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • แจ้งประวัติการแพ้ยาและประวัติการเจ็บป่วยก่อนการผ่าตัดงดแอสไพริน อย่างน้อย 5-7 วัน กรณีมียาหัวใจอื่น เช่นยาละลายลิ่มเลือด ควรสอบถามแพทย์โรคหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อพิจารณาหยุดยา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง 
  • งดอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารขณะดมยาสลบ

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  • ควรรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก พักแล้วอาการเจ็บหน้าอกไม่ลดลง
  • มีไข้
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หายใจลำบาก
  • บริเวณแผลผ่าตัดมีการอักเสบ บวม แดง หรือมีหนอง
  • พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง 
  • ควรมาตรวจตามนัดและรับประทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ

สรุป

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวกระโดดไปมาก ความรู้ทักษะของแพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผ่าตัดหัวใจ สามารถทำได้ง่ายขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ใช้เวลาในการพักฟื้นสั้นลง อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด เข้าใจการรักษาและดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา รวมไปถึงการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับเพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากเกิดความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง