มะเร็งปากมดลูก โรคอันตรายที่สามารถป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูกจัดเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในหญิงไทย จากข้อมูลทางสถิติโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยในปี พ.ศ.2545  พบว่ามะเร็งปากมดลูกเคยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองในหญิงไทย เป็นรองแค่เพียงมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือ แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่ามะเร็งเต้านม แต่มะเร็งปากมดลูกกลับทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากกว่า อย่างไรก็ตามมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่เราสามารถป้องกันได้ ซึ่งการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

สารบัญ

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกที่มีการเจริญและแบ่งตัวแบบผิดปกติ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมด (มากกว่า 95%) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papillomavirus; HPV) ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากเราป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ก็จะทำให้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้นั่นเอง

มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก

ปากมดลูกคืออะไร?

ปากมดลูกเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะภายในของเพศหญิง โดยเป็นช่องเปิดเข้าสู่มดลูก เป็นส่วนแรกสุดของมดลูกที่ต่ออยู่กับด้านบนสุดของช่องคลอด โดยปกติปากมดลูกจะปิดอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ภายในมดลูก แต่ในช่วงวันที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดเล็กน้อย เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกในแต่ละรอบเดือนได้ไหลออกมาเป็นประจำเดือน ที่บริเวณปากมดลูกจะมีเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่มีหน้าที่สร้างมูกซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามฮอร์โมนในวงจรรอบเดือน มูกเหล่านี้เป็นของเหลวที่จะไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติ หรือที่เรียกว่า ตกขาวหรือระดูขาว 

ปากมดลูกมีลักษณะเป็นช่องเปิดซึ่งมีส่วนที่เป็นบริเวณภายนอกและภายใน โดยเซลล์เยื่อบุปากมดลูกของสองส่วนนี้มีลักษณะเนื้อเยื่อและหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเซลล์เยื่อบุปากมดลูกด้านนอกจะแบนและซ้อนตัวกันหลายชั้น ในขณะที่เซลล์เยื่อบุปากมดลูกด้านในจะเป็นเซลล์ทรงสูงเรียงตัวเพียงชั้นเดียวและทำหน้าที่ผลิตมูก โดยระหว่างสองบริเวณนี้จะมีจุดที่เซลล์มีการเปลี่ยนรูปร่างโดยจะเปลี่ยนผ่านจากเซลล์เยื่อบุสำหรับภายนอกสู่เซลล์เยื่อบุสำหรับภายใน (transformation zone) ซึ่งบริเวณที่มีการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นจุดที่พบมะเร็งปากมดลูกได้บ่อยที่สุด

อาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก

อาการมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักไม่มีแสดงอาการความผิดปกติใด ๆ  มะเร็งปากมดลูกในระยะนี้จะตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองเท่านั้น ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปากมดลูก หรือการตรวจHPV DNA test เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี

และหากปล่อยทิ้งไว้มะเร็งปากมดลูกจะเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง และเริ่มมีอาการผิดปกติต่าง ๆ แสดงให้เห็น โดยอาการมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกขณะหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และประจำเดือนมากหรือนานผิดปกติ เป็นต้น
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีปริมาณมากหรือมีกลิ่นผิดปกติไปจากเดิม 
  • ปวดท้องน้อยหรือหัวหน่าว ปวดเอว ปวดหลังด้านล่าง หรือปวดร้าวลงขา
  • ขาบวมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
  • น้ำหนักลดลงมากโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกอ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง
  • หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปกดเบียดท่อไตจนทำให้เกิดภาวะไตวายได้
  • ถ้ามะเร็งลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย หรือมีปัสสาวะไหลออกทางช่องคลอด
  • ถ้ามะเร็งลุกลามไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือที่เรียกว่าลำไส้ตรง (rectum)อาจจะมีอาการถ่ายอุจจาระบ่าย ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูก ถ่ายลำบาก มีเลือดออกทางทวารหนัก หรือมีอุจจาระออกทางช่องคลอด

การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

เนื่องจากอาการมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมีน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลย และแม้แต่ในระยะลุกลามก็แสดงอาการที่ไม่อาจจะบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ทำให้ข้อมูลจากการซักประวัติและตรวจภายในนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย จะต้องมีการส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วยเสมอ และหากแพทย์สงสัยว่าอาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประกอบการวินิจฉัยและกำหนดระยะของโรค

มะเร็งปากมดลูกรักษาให้หายได้ไหม?

มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นระยะที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

มะเร็งปากมดลูกรักษาให้หายได้ไหม

การรักษามะเร็งปากมดลูก

การรักษามะเร็งปากมดลูกนั้นขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็งที่เป็น ขนาดของก้อนมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาก็มีตั้งแต่การผ่าตัด การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด และการให้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) 

  • ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่แค่ในปากมดลูก ไม่มีการแพร่กระจายไปยังช่องคลอดหรืออวัยวะใกล้เคียง การรักษาสามารถใช้การผ่าตัดออกได้ 
  • ระยะที่ 2  มะเร็งมีการแพร่ไปยังช่องคลอดหรือเนื้อเยื่อภายนอกปากมดลูก การรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีเป็นหลัก ส่วนการผ่าตัดจะทำได้เฉพาะในกรณีที่มะเร็งยังมีขนาดเล็กและยังจำกัดอยู่แค่ช่องคลอดด้านบนเท่านั้น
  • ระยะที่ 3 มะเร็งมีการแพร่ไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ช่องคลอดด้านล่าง ท่อไต กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง การรักษาไม่สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด จะต้องใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี 
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ และปอด การรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี และอาจมีการใช้ยามุ่งเป้าซึ่งเป็นการรักษาที่อาศัยกลไกทางภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เพราะมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี การป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ได้ผลดีที่สุด จึงเป็นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และในปัจจุบันเรามีวัคซีนที่ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว นอกจากนั้น สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกันก็คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (pre-cancer) หรือมะเร็งในระยะแรกก่อนมีอาการ จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชพีวีมีด้วยกันหลายสายพันธุ์ วัคซีนมะเร็งปากมดลูกจึงต้องเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ครอบคลุมหลายสายพันธุ์มากที่สุด โดยในปัจจุบันวัคซีนที่แพร่หลายในไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ และวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์

โดยข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก คือ 

  1. วัคซีนจะได้ผลดีที่สุดเมื่อฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือมีความเสี่ยงต่ำที่จะได้รับเชื้อ  
  2. การสร้างภูมิจะเกิดได้ดีกว่าในเด็กอายุน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ก็สามารถฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกได้ เพียงแต่จะต้องเพิ่มจำนวนครั้งในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คือจากแค่ 2 เข็มสำหรับเด็กอายุ 9-15 ปี เป็น 3 เข็มในผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตามเพื่อการป้องกันที่ดีที่สุด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ ของวัคซีนรวมไปถึงระยะห่างของการฉีดวัคซีนแต่ละเข็ม

สรุป

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง และมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่เราสามารถป้องกันได้ โดยการเข้ารับตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องและการได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างเหมาะสม

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง