RSV โรคอันตรายยอดฮิตในเด็ก

โรค RSV

RSV เป็นโรคที่มักมีการระบาดทุก ๆ ปี มักพบในฤดูฝนถึงฤดูหนาว โดยเฉพาะในเด็กเล็กวัยอนุบาล โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และเนื่องจากเป็นวัยเด็กเล็กทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพราะเด็ก ๆ มักสนุกกับการเล่น และทำให้แพร่เชื้อไปให้เพื่อน ๆ ได้ง่าย และหากเด็กที่ป่วยเป็น RSV มีอาการรุนแรงก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ 

โรคนี้ไม่เพียงทำให้เกิดการเจ็บป่วยในเด็กได้เท่านั้น แต่ยังทำให้มีอาการป่วยในวัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุได้อีกด้วย และหากผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน

สารบัญ

RSV คืออะไร?

RSV เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นได้ทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดภาวะหลอดลม หลอดลมฝอย และปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า respiratory syncytial virus (RSV) เป็นไวรัสชนิดที่มีเปลือกหุ้ม มี 2 สายพันธ์ุ ซึ่งมีลักษณะการก่อให้เกิดโรคเหมือนกัน โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และอาจพบอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี

โรค RSV เกิดจากอะไร?

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งสามารถติดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยการแพร่กระจายของเชื้อจะติดต่อผ่านทางการหายใจเอาละอองของเชื้อเข้าไป ซึ่งเชื้อจะมาจากการ ไอ จาม น้ำลาย เสมหะ และน้ำมูกของผู้ที่มีเชื้อ

นอกจากการรับเชื้อโดยการหายใจแล้วยังสามารถรับเชื้อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อนตามพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ที่บริเวณภาชนะต่าง ๆ ลูกบิดประตู โต๊ะ ของเล่น แล้วมาสัมผัสตา ปาก จมูก และเนื่องจากเชื้อ RSV มีความทนทานสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานถึง 30 นาทีจึงทำให้โรคนี้สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย

โรค RSV เกิดจาก

RSV อาการเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อมาแล้วเฉลี่ย 4-6 วัน สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุด 2 วัน และช้าที่สุดประมาณ 8 วัน อาการในช่วงแรกคล้ายไข้หวัดธรรมดา ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรงอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่สำหรับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่พบการติดเชื้อครั้งแรก มักมีอาการของโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างบริเวณหลอดลมและเนื้อปอด ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบตามมาได้

อาการเริ่มแรก

  • มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
  • เจ็บคอ ปวดศีรษะ (ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่)
  • ในเด็กทารก มักจะซึมลง ร้องกวนมากกว่าปกติ

อาการที่ควรพบแพทย์

  • มีไข้สูง ไอรุนแรง
  • หายใจมีเสียงดังหวีด ซึ่งมักได้ยินเวลาหายใจออก 
  • หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว
  • หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม ไม่เล่น ไม่กิน
  • ในเด็กทารกเห็นกล้ามเนื้อหน้าอกดึงเข้าด้านในมากกว่าปกติทุกครั้งที่หายใจ หายใจสั้น และเร็ว
  • ในเด็กทารกลักษณะสีผิวเปลี่ยนไป (ตัวเขียว) เนื่องจากขาดออกซิเจน

ข้อสังเกตว่าเป็น RSV หรือไม่

อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV อาจแยกไม่ได้จากโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ (influenza) พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza) อะดีโนไวรัส (adenovirus) ในเด็กโตและผู้ใหญ่อาการทั่วไปคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากติดเชื้อในทารกและเด็กเล็กมักมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ ลักษณะอาการคล้ายหอบหืด หายใจหอบเหนื่อย ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ  การยืนยันว่ามีการติดเชื้อ RSV จะต้องทำการตรวจสารคัดคลั่งในห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจน้ำมูกในโพรงจมูก แต่อย่างไรก็ตามการตรวจหาเชื้อไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกรายเพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษา แต่การตรวจจะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคของผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

ระยะแพร่เชื้อ RSV

ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระยะ 3-8 วันหลังมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อได้นานสุดถึง 4 สัปดาห์ แม้ไม่มีอาการแล้วก็ตาม

RSV รักษาอย่างไร?

การรักษา RSV ในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้ นอนพักผ่อน ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กที่มีอาการของหลอดลมตีบหรือมีเสมหะเหนียวข้นมาก อาจต้องมีการพ่นยาขยายหลอดลม ดูดเสมหะออก การให้ยาปฏิชีวนะในผู่ป่วยที่ติดเชื้อ RSV ยังไม่มีความจำเป็นหากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสปาลิวิซูแมบ (palivizumab) มีไว้เพื่อป้องกันอาการที่รุนแรงในทารกที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง) อย่างไรก็ตาม การใช้ปาลิวิซูแมบนั้นมีข้อจำกัด โดยจะใช้ในเด็กบางรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น เนื่องจากยานี้ไม่ได้ช่วยรักษาโรค RSV และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้

RSV กี่วันหาย?

โดยทั่วไปการติดเชื้อ RSV มักมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจพบอาการรุนแรงในผู้สูงอายุ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือมีโรคปอด โรคหัวใจร่วมด้วย หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

RSV ผู้ใหญ่เป็นได้มั้ย?

ผู้ใหญ่ก็สามารถป่วยเป็นโรค RSV ได้เช่นกัน ในกลุ่มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อาการมักไม่รุนแรงเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแต่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคปอด โรคหัวใจ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่ 65 ปีขึ้นไป ยังถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่จะมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น หากมีอาการสงสัยว่าจะป่วยเป็น RSV ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และเพื่อการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดของเชื้อ

การป้องกัน RSV

  • ล้างมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่ล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที
  • สอนสุขอนามัยที่ดีให้กับเด็ก สอนวิธีการล้างมือ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก และปาก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย การไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • ทำความสะอาดสิ่งที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ของใช้ ของเล่น ลูกบิดประตู 
  • หากในครอบครัวหรือในสถานศึกษา มีเด็กที่มีอาการไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
การป้องกัน RSV

วัคซีน RSV

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส RSV ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นวิธีการป้องกันโรค RSV ที่ดีที่สุด 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีน RSV โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้เพิ่งอนุมัติวัคซีน RSV ตัวแรกสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทารก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (ปี 2566) ซึ่งในประเทศไทยการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส RSV ยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ได้เข้าร่วมโครงการ The RSV Surveillance Pilot ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกกับอีก 14 ประเทศ เพื่อร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลมาใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันโรคต่อไป

สรุป

RSV หรือ respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยอาการมักจะรุนแรงในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุที่ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักพบการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถติดต่อผ่านการหายใจและการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก 

การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ และยังไม่มียาสำหรับการรักษาโรค RSV โดยตรง และยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้  ดังนั้นการป้องตัวเองจึงเป็นวิธีการรับมือกับโรค RSV ที่ดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรง และหากมีการติดเชื้อ RSV ควรให้ผู้ป่วยแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กวัยอนุบาลควรให้หยุดเรียน หรือหากผู้ใหญ่ป่วยด้วย RSV ก็ควรแยกตัว ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่เหมาะสมเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง