ทำความรู้จักเครื่อง AED อุปกรณ์สำคัญในการช่วยกู้ชีพฉุกเฉิน

เครื่อง AED

หลายท่านอาจเคยเห็นตู้ใส่อุปกรณ์ที่มีสัญลักษณ์รูปหัวใจสีแดงมีสายฟ้าผ่าอยู่ตรงกลาง พร้อมมีตัวหนังสือเขียนว่า “AED” อยู่ด้านบน ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า หรือ ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน พร้อมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตแก่ผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้อย่างมาก

เครื่อง AED คืออะไร

เครื่อง AED ( Automatic External Defibrillator ) หรือ เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ชนิดพกพาใช้ร่วมกับการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) สามารถอ่านเเละวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างแม่นยำ ใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่มี “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest)” เเละสามารถทำการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าเพื่อหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้ง

เครื่อง AED มีความสำคัญอย่างไร

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้กระทั่งในคนอายุน้อย คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำหรือนักกีฬาก็ตาม การให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิตด้วยการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) ร่วมกับการใช้เครื่อง AED  จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น 10 เท่า โดยสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้มากถึง 50 – 70%  พร้อมทั้งช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่อง AED ทำงานอย่างไร

เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ที่สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างแม่นยำ หากเครื่องตรวจพบว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องล่าง (Ventricular tachycardia : VT) หรือหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ (Ventricular Fibrillation : VF) ซึ่งทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองเเละอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ เเละมีความจำเป็นต้องการการรักษาโดยการช็อกไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณเพื่อเเจ้งให้เตรียมตัวเเละให้สัญญาณ ก่อนทำการปล่อยกระเเสไฟฟ้าเข้าไปเพื่อปรับให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

เครื่อง AED ใช้งานในสถานการณ์ใด

โดยเราสามารถพิจารณาใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR เพื่อกู้ชีพฉุกเฉินใน 3 กรณีได้แก่

  1. กรณีผู้ป่วยหมดสติเเละไม่รู้สึกตัว
  2. กรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บเเน่นหน้าอกก่อนหมดสติเเละไม่รู้สึกตัว โดยสงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack) 
  3. กรณีประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้าชอร์ตเเล้วหมดสติเเละไม่รู้สึกตัว

เครื่อง AED ใช้งานอย่างไร

ก่อนการใช้งานเครื่อง AED ทุกครั้ง จำเป็นต้องทำการประเมินผู้ป่วยที่หมดสติโดยการเรียกเเละการตบไหล่ พร้อมทั้งตรวจการหายใจเเละชีพจร พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือเเละโทรเเจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมเเพทย์ฉุกเฉิน โทรสายด่วน 1669 เพื่อเเจ้งพิกัดขอความช่วยเหลือเเละอาการเบื้องต้น

ขั้นตอนการใช้งานเครื่อง AED

  1. เปิดเครื่องหรือฝาครอบของเครื่องออก หลังจากนั้นเครื่องจะมีเสียงบอกวิธีการใช้งานของเครื่องเเต่ละขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ
  2. ต้องถอดเสื้อบริเวณหน้าอก หรือใช้กรรไกรในกล่องอุปกรณ์เครื่อง AED เพื่อตัดเสื้อบริเวณหน้าอกเเละถอดโลหะทุกชนิดออกจากร่างกายผู้ป่วย พร้อมทั้งตรวจสอบเเละทำให้บริเวณหน้าอกแห้งสนิท โดยปราศจากเหงื่อเเละน้ำ หลังจากนั้นลอกเเผ่นพลาสติกบริเวณด้านหลังแผ่นนำไฟฟ้าออกเเล้วนำไปติดให้แนบสนิทบริเวณหน้าอก โดยแผ่นเเรกติดบริเวณกระดูกไหลปลาร้าด้านขวา เเละอีกแผ่นติดใต้ราวนมด้านซ้ายบริเวณข้างลำตัว พร้อมทั้งตรวจดูสายไฟฟ้าจากเเผ่นนำไฟฟ้าให้ต่อเข้ากับเครื่อง AED 
  3. กดปุ่ม “Analyze” ที่เครื่อง AED เพื่อให้เครื่องวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องถอยห่างเเละห้ามสัมผัสกับผู้ป่วย พร้อมทั้งตะโกนเเจ้งให้คนรอบข้างถอยห่าง เเละห้ามสัมผัสกับผู้ป่วย
  4. เมื่อเครื่อง AED วิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจเเล้วพบว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดที่ต้องทำการรักษาโดยการช็อกไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณเเจ้งเตือนให้ทำการช็อกไฟฟ้า โดยต้องตรวจสอบให้เเน่ใจว่า ทุกคนถอยห่างจากผู้ป่วยเเละไม่มีใครสัมผัสกับผู้ป่วย พร้อมทั้งตะโกนให้สัญญาณว่า “ คุณถอย ผมถอย ทุกคนถอย ” เเล้วจึงกดปุ่ม “Shock” 
  5. เมื่อเครื่องส่งสัญญาณเเจ้งเตือนให้ทราบว่า ทำการช็อกไฟฟ้าเสร็จสิ้นเเละไม่ต้องทำการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าอีก หรือ “ No shock is needed ” หรือ “ Start CPR ” ให้เปิดเครื่อง AED ไว้ก่อนเพื่อทำการติดตามสัญญาณคลื่นหัวใจเเละชีพจรของผู้ป่วย เเละให้เริ่มทำการช่วยชีวิตชั้นพื้นฐาน CPR โดยการกดหน้าอกเพื่อปั้มหัวใจ 30 ครั้ง ด้วยอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่าผู้ป่วยเริ่มมีสติ เคลื่อนไหว หายใจหรือไอ หรือจนกว่าทีมเเพทย์ฉุกเฉินจะมาถึงเเละนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

เครื่อง AED ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

สามารถพบเครื่อง AED ติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่

  1. สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล
  2. พื้นที่ชุมชม หรือ พื้นที่สาธารณะ 
    • สถานีรถไฟฟ้า 
    • สถานีรถไฟ 
    • สนามบิน 
    • สวนสาธารณะ 
    • สนามกีฬา 
    • ห้างสรรพสินค้า
    • โรงเเรม 
    • มหาวิทยาลัย รวมไปถึงโรงเรียน
    • สถานที่ราชการต่าง ๆ

ใครสามารถใช้เครื่อง AED ได้บ้าง

  1. บุคคลที่เคยผ่านการอบรมการใช้เครื่อง AED เเละการกู้ชีวิตชั้นพื้นฐาน CPR (Cardiopulmonary resuscitation) 
  2. บุคลากรทางการเเพทย์
  3. บุคคลทั่วไป เนื่องจากเครื่อง AED ใช้งานได้ง่ายเเละมีการส่งสัญญาณเสียงเเจ้งเตือนพร้อมเเนะนำขั้นตอนการใช้งานอย่างละเอียดแก่ผู้ใช้งาน

สรุป

เครื่อง AED หรือเครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดพกพาที่สามารถใช้ได้ง่าย ตั้งอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ มีความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการช็อกไฟฟ้า การทราบถึงวิธีการใช้งานเครื่อง AED ที่ถูกต้องและเหมาะสมควบคู่กับการกู้ชีวิตชั้นพื้นฐาน CPR จนกว่าทีมเเพทย์ฉุกเฉินจะมาทำการช่วยเหลือต่อ จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตเเละลดภาวะเเทรกซ้อนให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง