โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่อันตรายโรคหนึ่งเพราะทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ และเป็นโรคที่เจอได้บ่อยมาก ๆ ในปัจจุบัน และคนไทยก็มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคมากขึ้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ลงได้ และหากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้วก็ควรดูแลสุขภาพและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
บทความนี้เรามาทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบว่าโรคนี้คืออะไร มีอาการอย่างไร และป้องกันโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง
สารบัญ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (coronary artery disease; CAD) เป็นโรคที่มีการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจซึ่งหลอดเลือดแดงนี้มีชื่อว่า “หลอดเลือดแดงโคโรนารี” ชื่อโรคนี้ในภาษาอังกฤษจึงมีชื่อของหลอดเลือดแดงนี้อยู่ด้วย และเนื่องจากมีการตีบของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นมีภาวะของการขาดเลือดเกิดขึ้น ทำให้บางคนเรียกโรคนี้ว่า โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease; IHD) ซึ่งเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของโรคนี้ โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการเมื่อมีการตีบของหลอดเลือดตั้งแต่ 50% ขึ้นไป โดยมักมีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง อาจเป็นลมหมดสติ หรือเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มักจะมีสาเหตุจากการสะสมของไขมัน คอเลสเตอรอล และเนื้อเยื่อที่ผนังด้านในร่วมกับมีการหนาตัวขึ้นของผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงโคโรนารี เกิดเป็นคราบไขมันหรือคราบตะกอน (plaque) ทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ และหากมีการตีบตันที่รุนแรงก็จะทำให้เกิดการตายหรือขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจตามมาได้ และหากวันดีคืนร้ายคราบไขมันหรือคราบตะกอนนี้เกิดการปริแตกจะทำให้เกิดการอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือด เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิตเฉียบพลันได้
ประเภทของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังเป็นโรคที่มีลักษณะการเกิดโรคโดยค่อย ๆ มีการสะสมของตะกอนหรือคราบไขมัน (plaque) ที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ ดังนั้นการตีบของหลอดเลือดจะค่อย ๆ ตีบแคบลงจนเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ และจะแสดงอาการเมื่อหลอดเลือดตีบตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ดังนั้นการที่เราไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หรือไม่มีอาการของโรคหัวใจไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีคราบไขมันหรือคราบตะกอนที่หลอดเลือดเลย เราอาจมีคราบไขมันที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจอยู่ แต่มีคราบไขมันอาจไม่ยังไม่ถึง 50% และเลือดยังไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพออยู่
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันก็มีการเกิดโรคที่เกิดจากการสะสมของคราบไขมันหรือตะกอน (plaque) ที่ผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารีเช่นกัน โดยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันนี้จะเกิดจากการที่คราบไขมันหรือตะกอนนี้มีการปริแตกแบบทันทีทันใด ทำให้ร่างกายกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นที่บริเวณที่มีการปริแตกของคราบไขมัน และลิ่มเลือดนี้จะอุดตันหลอดเลือดหัวใจแบบทันทีทันใด เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งสามารถทำให้หมดสติและเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
ซึ่งปริมาณคราบไขมันหรือตะกอนในโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันนี้อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 50% ก็ได้ เป็นภาวะที่ฉุกเฉินมาก หากเกิดภาวะนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันนั้นให้กลับมามีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้
หลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้นหมายถึงอะไร?
หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินแพทย์โรคหัวใจพูดถึงหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น และคงสงสัยว่าหมายถึงอะไร หลอดเลือดแดงหัวใจหรือหลอดเลือดแดงโคโรนารี (coronary artery) ของคนเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดแดงไปเลี้ยงหัวใจ โดยมีการแตกแขนงไปเป็นหลอดเลือดแขนงอีก 3 เส้นที่ทำหน้าที่กระจายนำเลือดไปเลี้ยงทุก ๆ ส่วนของหัวใจ ดังนั้นหากแพทย์โรคหัวใจบอกว่า “หลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น” ก็จะหมายถึงมีการตีบของหลอดเลือดแขนงทั้งหมดทุกเส้น ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่โรคมีความรุนแรง ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
อาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ
อาการที่เป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่
- เจ็บหน้าอก จุกแน่นหน้าอก
- เหงื่อออก
- ใจสั่น
- เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง
- เหนื่อยหรือแน่นหน้าอกแม้จะไม่ได้ออกแรง
- จุกแน่น และเจ็บหน้าอกอย่างเฉียบพลันนานกว่า 20 นาที
- เป็นลมหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องและทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น
- เพศ โดยผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตามผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
- สูบบุหรี่
- ความดันสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
- ขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
- ผู้ที่มีความเครียด
- รับประทานอาหารที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น อาหารที่มีไขมันสูงหรือมีไขมันทรานส์ อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป และอาหารที่มีโซเดียมสูง
- การดื่มแอลกอฮอล์
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงของโรคดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยลดความเสี่ยงที่เราควบคุมได้ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เลิกบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และหากมีโรคประจำตัวก็ควรดูแลรักษา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และควบคุมไม่ให้โรครุนแรง และหากยังไม่มีโรคประจำตัวแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อาจเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองโรคและวางแผนการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
สรุป
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนับว่าเป็นโรคที่อันตรายเพราะสามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นหากมีอาการที่น่าสงสัยที่อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อรักษากล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานได้อย่างปกติ เพราะหัวใจนับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ๆ ของร่างกาย