เช็กอย่างไร…ไข้หวัดใหญ่หรือโควิด

ไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา อาจเคยได้ยินว่าลักษณะอาการของโควิด-19 เหมือนกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ อาการโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกัน เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ซึ่งวิธีที่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 คือวิธีการตรวจหาเชื้อ ความรู้ความเข้าใจถึงความเหมือนและความต่างของอาการไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 จะช่วยเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองได้ถูกต้องและเหมาะสม ในกรณีที่อาการป่วยไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยอาการแสดงจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบุคคล มีทั้งไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนอาการรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต

สารบัญ

ไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 ต่างกันอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสทั้งคู่ แต่เป็นเชื้อคนละชนิดกัน ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล มักพบการระบาดช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน แต่โควิด-19 สามารถพบการแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปีและบางสายพันธุ์ติดต่อและแพร่กระจายได้ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ โดยไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีอาการแสดงหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้อาจแยกอาการของทั้ง 2 โรคนี้ได้ยาก

ข้อแตกต่างไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

ไข้หวัดใหญ่คือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) สายพันธุ์ที่พบในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธ์ุ  คือ สายพันธุ์ A, B และ C การระบาดโดยทั่วไปมีเพียงสายพันธุ์ A และ B โดยทั่วไปอาการของไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา

โควิด-19 คืออะไร?

โรคโควิด-19 คือโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV- 2) มีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019 เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้มีการกลายพันธุ์เป็นหลากหลายสายพันธุ์และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก

อาการไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19

อาการและอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 พบได้ทั้งไม่มีอาการแสดงหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงมาก ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีหลายอย่างที่เหมือนกัน ได้แก่

  • มีไข้
  • ไอ
  • หายใจถี่หรือหายใจลำบาก
  • เหนื่อยง่าย
  • เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน แต่พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
  • ท้องเสีย (พบบ่อยในเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่ แต่สามารถเกิดได้ทุกช่วงวัยในโควิด-19)
  • สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น (พบได้บ่อยในโควิด-19)

แม้ว่าอาการของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ก็มีข้อสังเกตของอาการบางประการที่มีความแตกต่าง ได้แก่

  • อาการแรกของไข้หวัดใหญ่จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วันหลังการติดเชื้อ ส่วนอาการแรกของโควิด-19 อาจเกิดขึ้นเร็วสุด 2 วันหลังติดเชื้อ แต่จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ระบุว่ามักแสดงอาการหลังการติดเชื้อ 5 วันโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ในบางรายอาจไม่แสดงใด ๆ นานถึง 14 วัน
  • ความรุนแรงของอาการไอในไข้หวัดใหญ่มักมีลักษณะไอแห้งเล็กน้อย แต่ในโควิด-19 บางสายพันธุ์ อาจมีอาการไอรุนแรงและต่อเนื่อง 
  • ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไข้สูง ส่วนโควิด-19 อาจพบลักษณะไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยในการติดเชื้อครั้งแรก 
  • เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของอาการพบว่าโควิด-19 มีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ และมีรายงานการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตมากกว่า

ตารางเปรียบเทียบอาการระหว่างไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19

อาการแสดง
ไข้หวัดใหญ่
โควิด-19
เริ่มมีอาการ
กะทันหัน
ค่อยเป็นค่อยไป
มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส
มีไข้ นาน 3-4 วัน
พบในบางราย ใช้เวลา 2-7 วัน
หนาวสั่น
++
++
ปวดศีรษะ
++
++
ไอ
++
+++
เจ็บคอ
+/-
+++
ปากแห้ง
+
+/-
น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
+/-
++
หายใจถี่หรือหายใจลำบาก
+/-
+++
ปวดกล้ามเนื้อหรือตามร่างกาย
+++
++
ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
+++
++
ท้องเสีย
+/- (พบมากในเด็ก)
+/- (พบมากในเด็ก)
อาเจียนหรือคลื่นไส้
+/- (พบมากในเด็ก)
+/- (พบมากในเด็ก)
สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น
+
+/-

หมายเหตุ: +++ อาการเด่น, ++พบได้, +พบได้น้อย, +/- พบหรือไม่พบอาการ

การแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19

ไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และไวรัสยังสามารถแพร่กระจายผ่านการไอ ​​จาม หรือพูดคุย นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้ออยู่ แล้วนำมือมาสัมผัสปาก จมูก หรือตา ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19

ไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ปอดอักเสบ
  • ระบบหายใจล้มเหลว
  • อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน 
  • ภาวะติดเชื้อ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด (เช่น หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง)
  • อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว (การหายใจล้มเหลว ไตวาย ช็อก)
  • ทำให้อาการป่วยเรื้อรังแย่ลง 
  • การอักเสบของเนื้อเยื่อหัวใจ สมอง หรือกล้ามเนื้อ
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา

สิ่งที่อาจมีความแตกต่างกันระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 คือ หลังจากหายจากโควิด-19 อาจพบภาวะลองโควิด-19 (Long COVID) ที่อาจเกิดขึ้นเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังการติดเชื้อ และยังมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติมที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงของปอด หัวใจ ขา หรือสมอง
  • เกิดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) และในผู้ใหญ่ (MIS-A)

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19

หากจะแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 โดยดูจากอาการเพียงอย่างเดียวอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจหาเชื้อที่เฉพาะเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR หรือ วิธี FIA (fluoroimmunoassay) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อจากห้องปฏิบัติการ

วินิจฉัยไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ ได้แก่

  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1)
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2)
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B/Victoria
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B/Yamagata

วัคซีนโควิด-19

วัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้โดย WHO วัคซีนป้องกันโควิด-19 ประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนา ได้แก่

  • วัคซีนไวรัสที่ทำให้หมดฤทธิ์หรืออ่อนแอลง (เช่น Sinovac-Coronavac, Sinopharm) 
  • วัคซีนที่ทำจากโปรตีน (เช่น Novavax)
  • วัคซีนเวกเตอร์ไวรัส (เช่น AstraZeneca, Janssen, CanSino) ซึ่งใช้ไวรัสที่ปลอดภัยไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ 
  • วัคซีน RNA และ DNA (เช่น Pfizer/ BioNTech, Moderna) ซึ่งใช้ RNA หรือ DNA ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

อาการข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ที่พบได้ทั่วไป

  • อาจมีอาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ภายใน 24-48 ชั่วโมง และหายได้เองภายใน 2-7 วัน
  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกายเกิดขึ้นได้ใน 1-2 วัน
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้

อาการข้างเคียงรุนแรงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ไข้สูง
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • อ่อนแรง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ลมพิษ

อาการข้างเคียงรุนแรงของวัคซีนโควิด-19

  • ความดันตก หอบเหนื่อย ลมพิษ เป็นภายหลังจากได้รับวัคซีนภายใน 30 นาที
  • อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำในสมอง มักเกิดจากวัคซีนเวกเตอร์ไวรัส

สรุป

โดยทั่วไปเราแยกอาการความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้ยาก และไม่สามารถแยกได้จากอาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอาการแสดงของ 2 โรคนี้มีความคล้ายกันมาก การตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดไหน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การทำความเข้าใจถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 และวิธีการปกป้องตัวเอง เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่าง รวมไปถึงการเข้ารับวัคซีนป้องกันอาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้

แพ็คเกจที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารบัญ

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง